Cardiovascular Health

PAGE TITLE (30-65 CHARACTERS) ค่าความดันปกติอยู่ที่เท่าไหร่ อ่านค่าความดันอย่างไร

Jul 04, 2025
ความดันโลหิต
ความดันโลหิต (Blood Pressure) เป็นตัวชี้วัดสำคัญของสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด หลายคนอาจสงสัยว่า ค่าความดันปกติ ควรอยู่ที่เท่าไหร่ ต้องความดันเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าอยู่ในภาวะความดันผิดปกติ ดังนั้น ในบทความนี้ OMRON จะช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับความดันโลหิตได้มากยิ่งขึ้น พร้อมแนะนำวิธีวัดความดันบ้านง่าย ๆ ให้ได้ค่าออกมาถูกต้อง และวิธีดูแลตัวเองเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีกัน 

ความดันโลหิต คืออะไร

ความดันโลหิต ก็คือแรงดันของเลือดที่ไหลเวียนไปทั่วร่างกายของเรา ตอนที่หัวใจเราบีบตัวและคลายตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย แรงดันที่เกิดขึ้นก็จะไปกระทบกับผนังหลอดเลือดแดง เรามักจะเห็นค่าความดันโลหิตแสดงออกมาเป็นตัวเลขสองตัว เช่น 120/80 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) โดยตัวเลขทั้งสองนั้น ได้แก่

  • ค่าตัวบน (Systolic Blood Pressure) คือค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว เป็นค่าที่แสดงถึงแรงดันสูงสุดในหลอดเลือดแดง

  • ค่าตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) คือค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว เป็นค่าที่แสดงถึงแรงดันต่ำสุดในหลอดเลือดแดง

ความดันต่ำ (Hypotension) 

ภาวะความดันต่ำ คือภาวะที่ค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 mmHg โดยทั่วไปแล้วภาวะความดันต่ำมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่หากมีอาการ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมหรือรู้สึกอ่อนเพลียมาก อาจบ่งบอกถึงปัญหาที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม 

ความดันสูง (Hypertension) 

ภาวะความดันโลหิตสูงหรือความดันโลหิตสูง คือภาวะที่ค่าความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 mmHg อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภัยเงียบที่ไม่มีอาการแสดงในระยะแรกเริ่ม แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือไตวายได้ นอกจากนี้ ค่าความดันอาจแปรผันตามสถานการณ์ เช่น 

  • White Coat Hypertension (ความดันโลหิตสูงจากเสื้อกาวน์) คือ ภาวะที่ความดันสูงขึ้นเมื่อวัดที่โรงพยาบาลหรือคลินิก แต่มีค่าปกติเมื่อวัดที่บ้านหรือในสถานการณ์ผ่อนคลาย มักเกิดจากความกังวลหรือความตื่นเต้นเมื่ออยู่ต่อหน้าบุคลากรทางการแพทย์

  • The Masked Hypertension (ความดันโลหิตสูงแฝง) คือ ภาวะที่ความดันโลหิตปกติเมื่อวัดที่โรงพยาบาลหรือคลินิก แต่กลับมีค่าสูงเมื่อวัดที่บ้านหรือในชีวิตประจำวัน ภาวะนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะอาจถูกละเลยและไม่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนได้ การวัดความดันโลหิต ที่บ้านอย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจจับภาวะนี้

ค่าความดันปกติ อยู่ที่เท่าไหร่

ค่าความดันปกติ จะแตกต่างกันไปตามเพศและช่วงอายุ แต่โดยทั่วไปแล้ว ค่าความดันโลหิตที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่ จะอยู่ที่ประมาณ 120/80 mmHg อย่างไรก็ตาม ค่าก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงวัย เช่น

  ค่าความดันปกติ

  • เด็กทารก จะอยู่ที่ประมาณ 90/60 mmHg

  • เด็กอายุ 3 - 6 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 110/70 mmHg

  • เด็กโต อายุ 7 - 10 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 120/80 mmHg 

  • เด็กโต อายุ 11  - 17 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 120/80 mmHg

  • ผู้ที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จะอยู่ที่ประมาณ 120/80 mmHg

  • ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้น ไม่ควรเกิน 160/95 mmHg  

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความดันโลหิต มีอะไรบ้าง

ปัจจัยหลายอย่างสามารถส่งผลต่อความดันโลหิตของเราได้ ดังนี้

  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดจะเริ่มแข็งตัวและยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้ความดันโลหิตมีแนวโน้มสูงขึ้น 

  • เพศ ค่าความดันปกติของผู้หญิง และค่าความดันปกติของผู้ชาย ในช่วงวัยหนุ่มสาวอาจมีค่าใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงความดันโลหิตสูงขึ้น 

  • พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้น 

  • อาหาร การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์มากเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง 

  • น้ำหนักตัว ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน มักมีความดันโลหิตสูงกว่าคนปกติ 

  • การออกกำลังกาย การไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจทำให้หลอดเลือดแข็งตัวและยืดหยุ่นน้อยลง 

  • ความเครียด ความเครียดสะสมสามารถกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราวได้ 

  • การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ สารนิโคตินในบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป สามารถเพิ่มความดันโลหิตได้ 

  • โรคประจำตัว โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไตหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้

 วิธีวัดความดันโลหิตที่บ้านให้ได้ค่าที่ถูกต้อง

  • เตรียมตัวให้พร้อม งดดื่มกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายหนัก ก่อนวัดอย่างน้อย 30 นาที เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนวัด และนั่งพักในท่าสบาย ๆ อย่างน้อย 5 นาที ก่อนเริ่มวัด

  • ท่าทางในการวัด นั่งบนเก้าอี้หลังตรง เท้าวางราบกับพื้น ไม่ไขว้ขา วางแขนข้างที่จะวัดบนโต๊ะ โดยให้ผ้าพันแขน (Cuff) อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ เลือกใช้ขนาดผ้าพันแขนที่เหมาะสมกับขนาดแขนของคุณ หากผ้าพันแขนเล็กหรือใหญ่เกินไป อาจทำให้ค่าที่ได้คลาดเคลื่อนได้

  • วิธีการวัด พันผ้าพันแขนให้แน่นพอดี ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไป เหนือข้อศอกประมาณ 2-3 เซนติเมตร จากนั้นกดปุ่มเริ่มวัดบนเครื่องวัดความดันโลหิต ระหว่างวัด ห้ามพูดคุยหรือเคลื่อนไหว

  • อ่านค่าความดันบนเครื่องวัดความดัน เครื่องวัดความดันโลหิตจะแสดงค่าตัวเลขสองค่า ได้แก่ ค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic) และค่าความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic) พร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจ (Pulse) 

  • จดบันทึกค่าที่ได้ เพื่อติดตามสุขภาพของตนเองอย่างใกล้ชิด

     

ค่าความดันผิดปกติ ทำอย่างไรดี 

หากคุณวัดความดันโลหิตที่บ้านแล้วพบว่าค่าผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นค่าสูงหรือต่ำกว่าค่าความดันปกติ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ควรวัดซ้ำอีกครั้งในเวลาที่ต่างกัน และหากยังคงพบความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและคำแนะนำที่ถูกต้อง 

ความดันสูงตั้งแต่ระดับไหนถึงควรพบแพทย์

โดยทั่วไป หากความดันโลหิตของคุณมีค่าสูงกว่า 140/90 mmHg อย่างต่อเนื่อง ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินและพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด ยิ่งตรวจพบและรักษาได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้มากขึ้นเท่านั้น  

ความดันต่ำอันตรายหรือไม่

โดยส่วนใหญ่แล้ว ภาวะความดันโลหิตต่ำมักไม่เป็นอันตรายหากไม่มีอาการใด ๆ แต่หากคุณมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หรือรู้สึกอ่อนเพลียร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ 

ความดันโลหิตควรวัดตอนไหนถึงดี

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการวัดความดันโลหิต คือช่วงเช้าหลังตื่นนอน และเข้าห้องน้ำเรียบร้อยแล้ว ก่อนรับประทานอาหารเช้าหรือรับประทานยา และควรวัดในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำและสามารถเปรียบเทียบค่าได้อย่างถูกต้อง หากต้องการวัดในช่วงเย็น ควรทำก่อนรับประทานอาหารเย็น หรืออย่างน้อย 1 - 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร  

วิธีการดูแลตัวเองให้ค่าความดันอยู่ในเกณฑ์ปกติ

การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในค่าความดันปกติ และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงหรือต่ำได้ มีดังนี้ 

  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีและลดการบริโภคโซเดียม ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ 

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น เดินเร็ว วิ่ง หรือปั่นจักรยาน 

  • ควบคุมน้ำหนัก รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 

  • จัดการความเครียด หาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น โยคะ นั่งสมาธิ หรือทำกิจกรรมที่ชอบ 

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนหลับอย่างน้อย 7 - 8 ชั่วโมง 

  • งดสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 

  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ รวมถึงการวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์หากมีข้อสงสัยหรือความกังวล 
     

ความดันสูง
 

สรุปบทความ 

ค่าความดันโลหิตเป็นตัวชี้วัดสุขภาพที่สำคัญ ซึ่งค่าปกติสำหรับผู้ใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 120/80 mmHg หากความดันต่ำกว่าหรือสูงกว่านี้มาก อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพได้ เช่น วิงเวียน เป็นลม หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด การวัดความดันที่บ้านอย่างถูกต้องจะช่วยให้เรารู้เท่าทันร่างกายของตัวเองมากขึ้น และหากวัดแล้วพบว่าค่าไม่ปกติ ควรวัดซ้ำหรือปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ การดูแลตัวเองด้วยการกินอาหารดี ออกกำลังกาย พักผ่อนให้พอ ไม่เครียด และไม่สูบบุหรี่ จะช่วยให้ความดันอยู่ในระดับปกติ และช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นในระยะยาว 

เพื่อให้การวัดความดันเป็นเรื่องง่ายและได้ค่าที่ถูกต้อง การเลือกใช้เครื่องวัดความดันที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานจากประเทศญี่ปุ่น ของทาง OMRON  ด้วยเทคโนโลยี Intellisense ที่มีอยู่ในเครื่องวัดความดันโลหิตทุกรุ่น มาพร้อมกับฟังก์ชันที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่ต้องการความสะดวกในการติดตามสุขภาพ และยังสามารถเชื่อมต่อกับแอปสุขภาพ OMRON connect  ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบันทึกค่าความดันโลหิตอัตโนมัติ โดยไม่ต้องจดด้วยตัวเอง ทำให้คุณสามารถติดตามสุขภาพความดันโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบข้อมูลได้ตลอดเวลา และสามารถแชร์ข้อมูลให้กับแพทย์ผู้ดูแลเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

กานต์ชนา อัศวธิตานนท์. (2025). ความดันต่ำ ดีกว่าความดันสูงจริงหรือ. สืบค้นจาก https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ความดันต่ำ-ความดันสูง 

โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์. (2024). คุณเป็นความดันโลหิตสูงรึเปล่า?. สืบค้นจาก https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/hypertension 

Hannah Nichols. (2023). What is masked hypertension?. สืบค้นจาก https://www.medicalnewstoday.com/articles/masked-hypertension 

Med Park Hospital. (2025). ความดันปกติ ทุกช่วงอายุ เท่าไหร่ ความดันขึ้น 200 ทำไง. สืบค้นจาก https://www.medparkhospital.com/lifestyles/normal-blood-pressure 

NHS UK. (2023). Low blood pressure (hypotension). สืบค้นจาก https://www.nhs.uk/conditions/low-blood-pressure-hypotension/  

Popular Video
Stay Connected
|Like
Popular Video
Stay Connected
|Like